วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเขียนผลงานวิชาการ


  • เทคนิคการเขียนผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่

    การเขียนผลงานวิชาการเพื่อพิมพ์เผยแพร่ จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลงานวิจัย หากผลงานวิจัยได้รับการอ้างอิงอย่างสม่ำเสมอจากคณะผู้วิจัยกลุ่มอื่น ๆ ก็จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ผลงานวิจัยนั้น ๆ

  • ผลงานวิจัยที่สามารถจะลงตีพิมพ์เผยแพร่ได้นั้น จะต้องสามารถตอบคำถามหรือโจทย์ที่ผู้วิจัยตั้งไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องมีผลการทดลองต่าง ๆ มาสนับสนุนคำตอบนั้น ๆ มีการแสดงข้อมูลที่ชัดเจนไม่คลุมเครือ ผลงานวิจัยที่ลงตีพิมพ์ ส่วนมากอยู่ใน 2 รูปแบบ คือ short communication และ full paper ต้องศึกษารูปแบบการเขียนที่วารสารกำหนด ตัวหนังสือ ตัวพิมพ์ การเว้นวรรค ตัวย่อ ผู้เขียนต้องปฏิบัติตามขั้นตอนโดยเคร่งครัด จะได้ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่า วารสารบางชนิด จะต้องจ่ายค่าลงตีพิมพ์
    1. การเขียนคำนำ
    คำนำหรือบทนำ (Introduction) คือส่วนที่นำไปสู่การวิจัย ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขาดงานวิจัยมาสนับสนุน เป็นส่วนที่ดึงดูดความสนใจให้ผู้อ่านอ่านเนื้อหาต่อไป อาจมีการตั้งคำถามหรือสมมุติฐานว่า ทำไมต้องทำงานวิจัยชิ้นนี้ ใช้ข้อความที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ วิธีการวิจัย ในการเขียนงานวิชาการเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสาร ส่วนของการตรวจเอกสารจะเป็นส่วนหนึ่งในคำนำ
    2. การตรวจเอกสาร (literature reviews)
    เป็นการสรุปงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ที่ได้ทำมาก่อนแล้ว เพื่อต้องการให้ข้อมูลว่า ได้มีทำงานวิจัยอะไรมาแล้วบ้าง ผลที่ได้เป็นอย่างไรและยังขาดข้อมูลอะไรอยู่ การตรวจเอกสารที่ดี ต้องเขียนให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อหาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
    3. อุปกรณ์และวิธีการ (materials and methods) เขียนบรรยายให้ผู้อ่านที่มีระดับความรู้เดียวกันสามารถดำเนินการวิจัยตามได้หากเขาสนใจ เป็นการบรรยายว่าเรามีการวางแผนการทดลองอย่างไร การทดลองที่ดำเนินการตามวิธีการหรือดัดแปลงมาจากวิธีการอันเป็นมาตรฐานของใคร เขียนให้สั้น รัดกุม เขียนการปฏิบัติงานตามลำดับ มีรายละเอียดที่สำคัญชัดเจน
    4. ผลการทดลอง (results) เป็นตอนที่เขียนไม่ยาก เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่า เกิดอะไรขึ้นจากการทดลอง สามารถนำเสนอโดยใช้การบรรยาย กราฟ หรือตารางตามความเหมาะสม เสนอข้อมูลเป็นค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deveriation) พร้อมแสดงการทดสอบค่าทางสถิติด้วย ตาราง รูปและกราฟจะต้องมีการบรรยายประกอบที่ชัดเจนและไม่ควรมีข้อมูลที่มากเกินไป สำหรับงานวิจัยที่สั้น ข้อมูลไม่มาก อาจเขียนผลการทดลองและวิจารณ์ไว้ด้วยกัน
    5. วิจารณ์ผล (discussion) คือ การแปลความหมายหรือประเมินผล บทวิจารณ์ที่ดีต้อง
    ครอบคลุมรายละเอียดดังนี้
    5.1 นำผลการทดลองไปเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์และสมมุติฐาน ว่าสอดคล้องหรือขัดแย้งกันหรือไม่ หาเหตุผลทางวิชาการและพยายามหาผลงานนักวิจัยอื่น ๆ มาสนับสนุน
    5.2 ไม่ควรเขียนซ้ำรายงานของผู้อื่นที่กล่าวมาแล้วในบทนำ
    5.3 เปรียบเทียบผลการทดลองนี้กับการทดลองอื่น ๆ ที่ทำมาก่อนว่า สอดคล้องหรือขัดแย้งกันหรือไม่
    5.4 ควรให้ข้อสรุปถึงผลการค้นพบที่สำคัญ และคำแนะนำเกี่ยวกับผลการวิจัย
    การวิจารณ์เป็นส่วนสำคัญและเป็นการแสดงถึงความรอบรู้และเฉียบคมของผู้วิจัยในการที่
    จะชี้นำให้ผู้อ่านทราบถึงคุณค่าของผลการวิจัยและมีความเห็นคล้อยตาม
    6. สรุป ใช้ประโยคสั้นและชัดเจน อาจจะมีข้อเสนอแนะแนบไปด้วย


  • * ก่อนส่งงานวิชาการไปตีพิมพ์ ให้ตรวจแก้หลาย ๆ ครั้ง และให้นักวิจัยอื่น ๆ ช่วยอ่านจะดียิ่งขึ้น *

การเขียนบทคัดย่องานวิจัย

บทคัดย่อ (Abstract) หมายถึง ส่วนที่แสดงเนื้อหาสำคัญของเอกสารโดยย่อ โดยทั่วไปมักจะเขียนอยู่ต่อจากชื่อเรื่อง บทคัดย่อมักจะมีลักษณะดังนี้คือ
1. บทคัดย่อมาก่อนคำนำ และแยกให้ออกระหว่างคำนำกับบทคัดย่อ
2. ย่อทุกๆส่วนของสัมมนา (คำนำย่อ เนื้อเรื่องย่อ สรุปย่อ) โดยเขียนสิ่งที่ผู้อ่านควรได้ทราบจากงานของเราโดยควรเรียงลำดับเช่นเดียวกับในเนื้อหาสัมมนา
3. เมื่อผู้อ่านๆบทคัดย่อจบแล้ว ต้องมองภาพรวมของสัมมนาออก ส่วนรายละเอียดนั้น ผู้อ่านสามารถติดตามอ่านได้ในบทความสัมมนา
4. บทคัดย่อไม่ควรยาวจนเกินไป (ไม่ควรเกิน 1/2 หน้ากระดาษ A4) เพราะอาจทำให้เวลาในการอ่านส่วนอื่นๆลดลง ในบทคัดย่อไม่มีตาราง รูปภาพ หรือการอ้างอิงใดๆ
5. ไม่มีส่วนของข้อมูลหรือแนวคิดอื่น ที่อยู่นอกเหนือจากในเนื้อหาบทความสัมมนา

ประเภทของบทคัดย่อ: บทคัดย่อมี 2 ประเภทคือ
1.บทคัดย่อประเภทให้ข้อมูลความรู้ (Informative Abstract) เขียนเพื่อรายงานผลการศึกษา หรือบทสรุปที่ผู้ใช้ต้องการอย่างเพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงความจำเป็นในการอ่านเอกสารต้นฉบับ
2. บทคัดย่อประเภทพรรณนา (Indicative of Descriptive Abstract) เขียนเพื่อชี้แนะข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดในเอกสาร โดยปราศจากรายงานถึงผลการศึกษา ค้นคว้า หรือสรุป เพื่อให้ผู้อ่านใช้ประกอบการตัดสินใจ ว่าจะต้องอ่านหรือศึกษาเอกสารต้นฉบับหรือไม่ โดยทั่วไปนิยมใช้เขียนเพื่อสรุปเอกสารที่นำเสนอ หรือทัศนคติที่กว้างขวาง เช่น เอกสารด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือบทวิจารณ์ เป็นต้น

  • การเขียนบทคัดย่อมีหลักสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

    1. มีความสั้น กระทัดรัดและกระชับ (Concision)
    คือเลือกเฉพาะสาระที่เป็นประเด็นใจความสำคัญของเอกสาร โดยใช้สำนวนที่กระทัดรัด มีความกระชับ หลีกเลี่ยงการใช้คำหรือประโยคที่มีความยาว หรือมีความซ้ำซ้อนความยาวของบทคัดย่อไม่มีกำหนดไว้ตายตัว ขึ้นอยู่กับชนิดของเอกสารและเนื้อหาสาระของเอกสารนั้น ๆ ว่า มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปบทคัดย่อจะมีเพียง 1 ย่อหน้า แต่สำหรับเอกสารงานวิจัยมีได้มากกว่า
    2. มีความถูกต้อง (Precision)
    คือสามารถถ่ายทอดประเด็นสำคัญของเอกสารได้อย่างถูกต้อง ตามความหมายเดิมของเอกสารต้นฉบับ ไม่ควรมีการตีความหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ อันทำให้ผู้อ่านเข้าใจสาระของเอกสารต้นฉบับผิดไป
    3. มีความชัดเจน (Clarity)
    การเรียบเรียงถ้อยคำเพื่อเสนอในบทคัดย่อจะต้องสื่อความหมายให้เข้าใจชัดเจน โดยใช้รูปประโยคที่สมบูรณ์ไม่ใช่เขียนกระท่อนกระแท่นเป็นคำ ๆ

การนิยามศัพท์เฉพาะ


การนำคำศัพท์มานิยามในงานวิจัยนั้น เป็นการนิยามคำศัพท์ที่เป็นสำคัญที่ผู้วิจัยใช้ในความหมายเฉพาะสำหรับงานวิจัยของตน หากเป็นคำศัพท์ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเข้าใจตรงกันโดยทั่วไป และในงานวิจัยก็ไม่ได้ใช้ในความหมายที่ต่างออกไป คำศัพท์นั้นไม่ต้องนำมานิยาม

ปัญหาที่พบในงานวิจัย โดยเฉพาะในการทำปริญญานิพนธ์ของนิสิตนั้น มักจะเขียนนิยามศัพท์โดยการตัดคำสำคัญออกเป็นส่วนๆ เช่น ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา นิสิตนักศึกษามักตัดออกเป็นคำ 2 คำ คือ คำว่าความคิดและการปฏิรูปการศึกษา แล้วนำ 2 คำนั้นมานิยามแยกจาก ซึ่งความจริงแล้ว “ความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการศึกษา” นั้นเป็นตัวแปรที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา เมื่อถูกแยกออกจากกันทำให้คำนิยามขาดสาระสำคัญของตัวแปรไปกัน
  • ตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม
    ความคิดเห็น หมายถึง ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
    การปฏิรูปการศึกษา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาจากเดิมที่เน้นครูเป็นศูนย์กลางเป็นเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

    ตัวอย่างที่เหมาะสม
    ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา หมายถึง ความรู้สึกของครูที่มีต่อการ ปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจำแนกออกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ แนวทางการจัดการศึกษา ประกันคุณภาพ ระบบโครงสร้าง และการบริหารการศึกษา การพัฒนาครู

    ในบางครั้งผู้วิจัยจำเป็นต้องสร้างหรือพัฒนาเครื่องมือเพื่อวัดตัวแปรในงานวิจัยของตน การนิยามศัพท์เฉพาะอาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้นในงานวิจัยบางเรื่องอาจมีทั้งนิยามศัพท์เฉพาะและนิยามศัพท์ปฏิบัติการ ซึ่งการนิยามศัพท์ปฏิบัติการจะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะวัดของตัวแปรนั้นๆ

    ตัวอย่างการนิยามศัพท์ปฏิบัติการ
    ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ มีความหมายและวิธีวัดดังนี้
    1. ฐานอำนาจของผู้บริหาร หมายถึง ศักยภาพหรือความสามารถของผู้บริหารที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติไปในทิศทางที่ผู้บริหารต้องการได้ ฐานอำนาจของผู้บริหารในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้แนวคิดทฤษฎีฐานอำนาจทางสังคม
    1.1 อำนาจในตำแหน่ง (Position power) หมายถึง ศักยภาพหรือความสามารถของผู้บริหาร ที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติไปในทิศทางตามที่ต้องการโดยมีพื้นฐานมาจากอำนาจอันชอบธรรม อำนาจจากการให้รางวัลและอำนาจจากการบังคับ
    อำนาจอันชอบธรรม (Legitemate power) หมายถึงความสามารถของผู้บริหารที่มาจากตำแหน่งที่ผู้บริหารดำรงอยู่ โดยมีพื้นฐานมาจากกฎ ระเบียบ วัฒนธรรม และโครงสร้างทางสังคม ซึ่งทำให้ผู้บริหารมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจนี้ภายในขอบเขตของอำนาจหน้าที่
    อำนาจการให้รางวัล (Reward power) หมายถึง ความสามารถของผู้บริหารในการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติ โดยมีพื้นฐานมาจากการให้รางวัลหรือผลตอบแทนต่อผู้ใต้บังคับบัญชาที่แสดงพฤติกรรม หรือความคิดเห็นไปในทางที่ต้องการ
    อำนาจบังคับ (Coercive power) หมายถึง ความสามารถของผู้บริหารที่จะลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่ปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ หรือเป็นอำนาจหน้าที่ที่ผู้บริหารสามารถทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชายอมปฏิบัติตามเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษ เพื่อรักษามาตรฐานและควบคุมการปฏิบัติงานของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ
    1.2 อำนาจส่วนบุคคล (Personal power) หมายถึง ศักยภาพหรือความสามารถที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติไปในทิศทางตามที่ต้องการโดยมีพื้นฐานมาจาก ความเชี่ยวชาญ ความเป็นมิตร ความจงรักภักดี และความดึงดูดใจของผู้บริหาร ซึ่งวัดได้จาก อำนาจความเชี่ยวชาญและอำนาจอ้างอิง
    อำนาจความเชี่ยวชาญ (Expert power) หมายถึง ความสามารถผู้บริหารที่ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ของผู้บริหารที่ครูอาจารย์ให้การยอมรับว่าความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญนั้นสามารถทำให้ครูอาจารย์หรือโรงเรียนบรรลุเป้าหมายได้
    อำนาจอ้างอิง (Referent power) หมายถึง ความสามารถของผู้บริหารที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาที่มาจากพื้นฐานของการยอมรับ ความประทับใจในบุคลิกภาพ ความรู้เป็นพวกเดียวกัน หรือการประพฤติและปฏิบัติตนของผู้บริหารที่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา



ฐานอำนาจของผู้บริหารนี้ วัดได้จากแบบวัดฐานอำนาจ ที่ผู้วิจัยได้สร้าง พัฒนาและปรับปรุงมาจากแบบวัดฐานอำนาจของฮินคินและชไรส์ไฮม์ (Hinkin and Scirieshiem.1989) ชไรส์ไฮม์ ฮินคิน และ พอดซาคอฟฟ์ (Scirieshiem , Hinkin and Podsakoff.1991) มีจำนวนทั้งหมด 20 ข้อ เป็นต้น

วิเคราะห์คุณภาพแบบสอบถาม


วิเคราะห์คุณภาพแบบสอบถาม

เป็นการนำแบบสอบถามที่ได้ปรับปรุงแล้วไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ เพื่อนำผลมาตรวจสอบคุณภาพของแบบสอบถาม ซึ่งการวิเคราะห์หรือตรวจสอบคุณภาพของแบบสอบถามทำได้หลายวิธี แต่ที่สำคัญมี 2 วิธี ได้แก่

1. ความตรง (Validity) หมายถึง เครื่องมือที่สามารถวัดได้ในสิ่งที่ต้องการวัด โดย แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1) ความตรงตามเนื้อหา (Content Validity) คือ การที่แบบสอบถามมีความครอบคลุมวัตถุประสงค์หรือพฤติกรรมที่ต้องการวัดหรือไม่ ค่าสถิติที่ใช้ในการหาคุณภาพ คือ ค่าความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับวัตถุประสงค์ หรือเนื้อหา(IOC: Index of item Objective Congruence) หรือดัชนีความเหมาะสม โดยให้ผู้เชี่ยวชาญ ประเมินเนื้อหาของข้อถามเป็นรายข้อ
2) ความตรงตามเกณฑ์ (Criterion-related Validity) หมายถึง ความสามารถของแบบวัดที่สามารถวัดได้ตรงตามสภาพความเป็นจริง แบ่งออกได้เป็นความเที่ยงตรงเชิงพยากรณ์และความเที่ยงตรงตามสภาพ สถิติที่ใช้วัดความเที่ยงตรงตามเกณฑ์ เช่น ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์(Correlation Coefficient) ทั้งของ Pearson และ Spearman และ ค่า t-test เป็นต้น
3) ความตรงตามโครงสร้าง (Construct Validity) หมายถึงความสามารถของแบบสอบถามที่สามารถวัดได้ตรงตามโครงสร้างหรือทฤษฎี ซึ่งมักจะมีในแบบวัดทางจิตวิทยาและแบบวัดสติปัญญา สถิติที่ใช้วัดความเที่ยงตรงตามโครงสร้างมีหลายวิธี เช่น การวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) การตรวจสอบในเชิงเหตุผล เป็นต้น

2. ความเที่ยง (Reliability) หมายถึง เครื่องมือที่มีความคงเส้นคงวา นั่นคือ เครื่องมือที่สร้างขึ้นให้ผลการวัดที่แน่นอนคงที่จะวัดกี่ครั้งผลจะได้เหมือนเดิม สถิติที่ใช้ในการหาค่าความเที่ยงมีหลายวิธีแต่นิยมใช้กันคือ ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของ คอนบาร์ช (Conbach’s Alpha Coefficient: α coefficient) ซึ่งจะใช้สำหรับข้อมูลที่มีการแบ่งระดับการวัดแบบประมาณค่า (Rating Scale)

การกำหนดชื่อเรื่องและวัตถุประสงค์การวิจัย


การกำหนดชื่อเรื่องวิจัย
ชื่อเรื่องที่จะวิจัยจะต้องตรงกับปัญหาที่จะศึกษา มีความชัดเจนทางด้านภาษา ผู้อ่านเห็นแล้วสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าจะทำอะไร ไม่ต้องตีความอีก ในที่นี้มีข้อเสนอแนะในการตั้งชื่อเรื่องวิจัย ซึ่งประมวลจากประสบการณ์ในการศึกษางานวิจัย ดังนี้
1.
ตั้งชื่อเรื่องโดยใช้ภาษาง่าย สั้น กระซับ และชัดเจน ครอบคลุมปัญหาที่จะวิจัย เช่น“การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อสร้างเสริมสมรรถภาพด้านการสอนของครูประจำการระดับประถมศึกษา”
2. ชื่อเรื่องต้องสามารถบอกได้ว่าเป็นการศึกษาอะไร กับใคร หรือของใคร ที่ไหน (ถ้าเกี่ยวข้องกับสถานที่)หรือเมื่อไร (ถ้าเกี่ยวข้องกับเวลา) เช่น“การศึกษาบัญหาและความต้องการเพื่อจัดโครงการศึกษานอกระบบโรงเรียนในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย”
3. ชื่อเรื่อง ต้องไม่ยาวจนดูฟุ่มเฟือย อ่านแล้วเข้าใจยาก หรือจับประเด็นไม่ได้ เช่น “การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสมรรถวิสัย ในกิจกรรมเสริมหลักสูตรภาษาไทยกับความสนใจในการติดตามข่าวสาร เหตุการณ์จากหนังสือพิมพ์ ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนรัฐบาลในเขตจังหวัดชุมชม ภาคใต้ ของประเทศไทย” ชื่อเรื่องที่ยาวแต่ไม่ฟุ่มเฟือย เช่น“การศึกษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคของนักเรียนชาย : เปรียบเทียบระหว่างนักเรียนอาชีวศึกษากับนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 1 ในเขตกรุงเทพมหานคร”
4. ชื่อเรื่อง ต้องไม่สั้นจนเกินไป อ่านไม่รู้เรื่องว่าทำอะไร เช่น“การศึกษาปัญหาการใช้สารเสพติด”เป็นการศึกษาที่ไหน กับใคร“เปรียบเทียบการใช้ห้องสมุดประชาชน”เปรียบเทียบเรื่องอะไร ระหว่างใครกับใคร ที่ไหน
5. ชื่อเรื่อง ควรขึ้นต้นด้วยคำนาม เพื่อให้เกิดความไพเราะสละสลวย ที่นิยมกัน คือ มักจะขึ้นด้วยคำว่า การศึกษา การสำรวจ การวิเคราะห์ การเปรียบเทียบ เช่น“การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถทางสมองกับความสามารถทางการคิดแก้ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษา” “การเปรียบเทียบพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของนักเรียนจากการประเมินผลหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2503 และพุทธศักราช 2521”
6. ชื่อเรื่องวิจัยควรระบุถึงประเภท หรือวิธีการศึกษา ตัวแปรสำคัญ กลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มเป้าหมายลงไปด้วย เช่น“การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรับผิดชอบกับวินัยในตนเองของอาจารย์ในสถาบันราชภัฏ”

วัตถุประสงค์การวิจัย
วัตถุประสงค์การวิจัย เป็นการกำหนดความต้องการในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ความจริงของผู้วิจัยว่า ต้องการศึกษาเรื่องใดภายใต้ขอบเขตอะไร เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าผู้วิจัยมุ่งหาคำตอบเรื่องใด ซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัย จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องต่อไปนี้ (กองแผนงาน, 2535 : 1-7)
1.ผู้วิจัยต้องการศึกษาปัญหา หรือต้องการพิสูจน์เกี่ยวกับความจริงเรื่องอะไรบ้าง
2.ขอบเขตของปัญหาที่ผู้วิจัยต้องการทราบหรือต้องการศึกษานั้น กว้างขวางเพียงใด ซึ่งกำหนดขอบเขตจะช่วยในการกำหนดประชากร การสุ่มกลุ่มตัวอย่าง วิธีดำเนินการวิจัยและสมมุติฐานการวิจัย

การเขียนวัตถุประสงค์ในการวิจัย มีข้อควรคำนึงดังนี้
1.วัตถุประสงค์ของการวิจัยจะต้องสอดคล้องกับชื่อเรื่อง และความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
2.สามารถกำหนดสมมุติฐานการวิจัยได้ (ถ้าเป็นการวิจัยที่ต้องการทดสอบสมมุติฐาน)
3.วัตถุประสงค์ของการวิจัยต้องครอบคลุมสิ่งที่ต้องการศึกษา
4.ภาษาที่ใช้เขียนจะต้องสั้นกระทัดรัดได้ใจความ และมีความชัดเจน
5.วัตถุประสงค์จะต้องระบุวิธีการศึกษา ตัวแปร และกลุ่มที่ศึกษา
6.สามารถกำหนดรูปแบบการวิจัยได้
7.การเขียนอาจเขียนในลักษณะการบรรยาย หรือคำถามก็ได้
8.ถ้าวัตถุประสงค์มีหลายข้อควรเขียนเรียงจากวัตถุประสงค์หลักไปสู่วัตถุประสงค์ย่อย
9.การเขียนวัตถุประสงค์อาจเขียนในลักษณะวัตถุประสงค์รวมก่อนแล้ว แยกเป็นวัตถุประสงค์ย่อย ๆ



การวิจัยเชิงสำรวจ




ผู้วิจัยที่มีประสบการณ์หรือมีความรู้เกี่ยวกับปัญหาการวิจัย ต้องอาศัยการวิจัยเชิงสำรวจเป็นขั้นตอนขั้นแรก เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าต้องมีการวิจัยเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เป็นการวิจัยเบื้องต้นเพื่อที่จะทำให้ปัญหาชัดเจน และกำหนดลักษณะของปัญหาได้ (Zikmund. 1997 : 128) การวิจัยเชิงสำรวจเป็นการสำรวจข้อมูลพื้นฐาน ผู้วิจัยจะเป็นผู้คิดสร้างสรรค์ในการเลือกข้อมูล แหล่งข้อมูลที่จะสำรวจต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอ โดยใช้แหล่งข้อมูลที่ไม่สิ้นเปลือง ซึ่งมีการจัดหาข้อมูลเพื่อช่วยผู้บริหาร เทคนิคต่าง ๆ จะมีข้อจำกัด ซึ่งผู้วิจัยจะต้องระลึกถึงความเหมาะสม และความไม่เหมาะสมในการใช้เทคนิคต่าง ๆ ส่วนใหญ่การวิจัยเชิงสำรวจจะต้องออกแบบเพื่อจัดหาข้อมูลเชิงคุณภาพ จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับแนวความคิดของปัญหามากกว่าการวัดผลหรือการวังเชิงปริมาณ ผู้วิจัยจะต้องค้นหาตัวเลขเพื่อระบุแนวโน้มทางเศรษฐกิจแต่ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์คณิตศาสตร์ แหล่งของข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของหรือสถานการณ์ปัญหา

นอกเหนือจากการใช้การวิจัยเชิงสำรวจเพื่อการกำหนดปัญหาในการวิจัยต่อไปแล้วนั้น สามารถที่จะใช้เป็นการวิจัยเพื่อเพิ่มความคุ้นเคยกับปัญหาให้กับนักวิจัย ในกรณีที่นักวิจัยทำงานให้กับบริษัทเป็นครั้งแรก และยังไม่มีความคุ้นเคยกับปัญหาดีพอ หรือสามารถที่จะใช้การวิจัยเชิงสำรวจเพื่ออธิบายแนวความคิดต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้นได้ด้วย ตัวอย่าง ฝ่ายบริหารต้องการที่จะปรับปรุงนโยบายการให้บริการเพื่อยกระดับความพอใจของพนักงานการวิจัยเชิงสำรวจจะช่วยในการอธิบาย และสร้างความกระจ่างให้ฝ่ายบริหารเข้าใจถึงความพอใจของพนักงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้สามารถวางแนวนโยบายในการบริหารต่อไป

สาเหตุที่ต้องวิจัยเชิงสำรวจ

จุดมุ่งหมายของการวิจัยเชิงสำรวจ คือเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อความปัญหาผู้วิจัยจะใช้การวิจัยเชิงสำรวจเพื่อจุดมุ่งหมาย 3 ประการที่เกี่ยวข้องกัน ดังนี้
1. การวิเคราะห์สถานการณ์ (Diagnosing a situation) มีความจำเป็นต้องวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อทำให้ลักษณะปัญหาชัดเจน การวิจัยเชิงสำรวจจะช่วยวิเคราะห์ลักษณะของปัญหาเพื่อให้เกิดการวิจัยตรงประเด็นโยช่วยกำหนดความสำคัญก่อน และหลังของการวิจัย การวิจัยเชิงสำรวจ จะช่วยฝ่ายบริหารในเรื่องการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่ไม่คุ้นเคย ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาควรจะมีการกำหนดก่อนที่จะมีการพัฒนากลยุทธ์การบริหาร ตัวอย่าง เมื่อบริษัทต้องการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการทำบัญชี บริษัทจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณงาน จำนวนพนักงาน และค่าใช้จ่ายทั้งที่ใช้อยู่เดิม และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นใหม่
2. การกลั่นกรองทางเลือก (Screening alternatives) เป็นการพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุดเมื่อมีโอกาสต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น การนำเครื่องจักรหลายแบบมาใช้แทนคน จะต้องคัดเลือกเครื่องจักรที่มีความเหมาะสมกับงาน และลักษณะของบริษัทมากที่สุด ทั้งนี้จะต้องเปรียบเทียบกับทางเลือกเดิมคือการใช้แรงงานคน
3. การค้นหาความคิดใหม่ (Discovering new ideas) นักธุรกิจจะวิจัยเชิงสำรวจเพื่อสร้างความคิดในการบริหารธุรกิจใหม่ ๆ เช่น วิธีการติดต่อสื่อสารใหม่ ๆภายใจองค์การ (New organizational communication) การรื้อปรับระบบ (Reengineering) ภายในองค์การ การศึกษาเวลา และความเคลื่อนไหวในการทำงาน (Time and motion studies) เป็นต้น
การจัดประเภทการวิจัยเชิงสำรวจ และการวิจัยเชิงคุณภาพ
มีเทคนิคการสำรวจหลายประการ เทคนิคที่ใช้มากก็คือเทคนิคเชิงคุณภาพ (Qualitative technique) แต่อย่างไรก็ตามควรมุ่งที่จุดมุ่งหมายมากกว่าที่เทคนิคแล้วจึงจะพิจารณาว่าจะใช้การวิจัยเชิงสำรวจ เชิงบรรยาย หรือเชิงเหตุผล ตัวอย่าง การสำรวจทางโทรศัพท์ ใช้เพื่อจุดมุ่งหมายเชิงสำรวจเป็นหลัก

สถิติเชิงอนุมาน

สถิติเชิงอนุมาน
1. (Chi-square) เป็นการทดสอบนัยสำคัญของสัดส่วนความถี่และความแปรปรวน จะใช้ในการทดสอบนัยสำคัญในการเปรียบเทียบสัดส่วนและทดสอบความสัมพันธ์แล้วยังใช้ในการทดสอบนัยสำคัญของความแปรปรวนของประชากร 1 กลุ่มอีกด้วย
2.T – test เป็นการทดสอบนัยสำคัญของค่าเฉลี่ย เหมาะสำหรับถ้าตัวแปรเป็นตัวแปรเชิงปริมาณที่สามารถวัดค่าได้ เช่น วัดยอดขายของ S&P เปรียบเทียบกันระหว่างสาขาชลบุรี และสาขางามวงศ์วาน
3. F – test (หรือ ANOVA) เป็นการทดสอบนัยสำคัญของค่าเฉลี่ยตั้งแต่สองกลุ่มขึ้นไป
4. Correlation เป็นการทดสอบความสัมพันธ์ของตัวแปรว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ มากน้อยเพียงใดและสัมพันธ์กันในเชิงบวกหรือลบ ( -1 < r < +1 )

สถิติเชิงพรรณนา

สถิติเชิงพรรณนา คือ เป็นสถิติที่ใช้ในการบรรยายหรืออธิบายลักษณะต่างๆ ในภาพรวมของกลุ่มตัวอย่างหรือประชากรที่ใช้ในการศึกษาเท่านั้น โดยไม่สนใจที่จะสรุปอ้างอิงไปยังประชากรอื่นสถิติเชิงอนุมาน คือ เป็นสถิติที่ใช้ในการสรุปอ้างอิงค่าสถิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาไปยังกลุ่มประชากรของกลุ่มตัวอย่างนั้น ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการสุ่มตัวอย่างที่ถูกต้องและมีขนาดกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม เป็นการอนุมานหรือสรุปอ้างอิงจากค่าสถิติของกลุ่มตัวอย่างไปยังค่าพารามิเตอร์ของประชากรโดยอาศัยหลักการการแจกแจงของค่าสถิติ เป็นสถิติที่ใช้ในการวัดความสัมพันธ์ของตัวแปร เช่น พวก
ตัวอย่างของสถิติเชิงพรรณนา

1.Frequency (ความถี่)
จัดข้อมูลเป็นกลุ่ม โดยการทำตารางแจกแจงความถี่
2.Mean (ค่าเฉลี่ย)
นิยาม : ค่าที่เกิดจากการนำเอาค่าของหน่วยข้อมูลทุกๆหน่วยที่เก็บรวบรวมได้มาบวกกัน แล้วหารด้วยจำนวนหน่วย ข้อมูลทั้งหมด
3.Median(มัธยฐาน)
นิยาม : ค่าตัวเลขที่อยู่ตรงกลางของจำนวนเลขทุกๆหน่วย เมื่อเรียงกันตามลำดับ
4.Mode (ฐานนิยม)
นิยาม : ค่าของหน่วยข้อมูลที่มีอัตรา ความถี่สูงสุด หรือมีอัตราการซ้ำกันมากที่สุด



เทคนิคสร้างแบบสอบถาม


1 สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย
2 ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะสมกับผู้ตอบ
3 ใช้ข้อความที่สั้น กระทัดรัด ได้ใจความ
4 แต่ละคำถามควรมีนัย เพียงประเด็นเดียว
5 หลีกเลี่ยงการใช้ประโยคปฏิเสธซ้อน
6 ไม่ควรใช้คำย่อ
7 หลีกเลี่ยงการใช้คำที่เป็นนามธรรมมาก
8 ไม่ชี้นำการตอบให้เป็นไปแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
9 หลีดเลี่ยงคำถามที่ทำให้ผู้ตอบเกิดความลำบากใจในการตอบ
10 คำตอบที่มีให้เลือกต้องชัดเจนและครอบคลุมคำตอบที่เป็นไปได้
11 หลีกเลี่ยงคำที่สื่อความหมายหลายอย่าง
12 ไม่ควรเป็นแบบสอบถามที่มีจำนวนมากเกินไป ไม่ควรให้ผู้ตอบใช้เวลาในการตอบแบบสอบถามนานเกินไป
13 ข้อคำถามควรถามประเด็นที่เฉพาะเจาะจงตามเป้าหมายของการวิจัย
14 คำถามต้องน่าสนใจสามารถกระตุ้นให้เกิดความอยากตอบ



เทคนิคการใช้แบบสอบถาม
วิธีใช้แบบสอบถามมี 2 วิธี คือการส่งทางไปรษณีย์ กับการเก็บข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งไม่ว่ากรณีใดต้องมีจดหมายระบุวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล ตลอดจนความสำคัญของข้อมูลและผลที่คาดว่าจะได้รับ เพื่อให้ผู้ตอบตระหนักถึงความสำคัญและสละเวลาในการตอบแบบสอบถาม
การทำให้อัตราตอบแบบสอบถามสูงเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้วิจัย ข้อมูลจากแบบสอบถามจะเป็นตัวแทนของประชากรได้เมื่อมีจำนวนแบบสอบถามคืนมามากว่าร้อยละ 90 ของจำนวนแบบสอบถามที่ส่งไป แนวทางที่จะทำให้ได้รับแบบสอบถามกลับคืนในอัตราที่สูง มีวิธีการดังนี้
1 มีการติดตามแบบสอบถามเมื่อให้เวลาผู้ตอบไประยะหนึ่ง ระยะเวลาที่เหมาะสมในการติดตามคือ 2 สัปดาห์ หลังครบกำหนดส่ง อาจจะติดตามมากกว่าหนึ่งครั้ง
2 วิธีการติดตามแบบสอบถาม อาจใช้จดหมาย ไปรษณีย์ โทรศัพท์ เป็นต้น
3 ในกรณีที่ขอ้คำถามอาจจะถามในเรื่องของส่วนตัว ผู้วิจัยต้องให้ความมั่นใจว่าข้อมูลที่ได้จะเป็นความลับ

ข้อเด่นและข้อด้อยของการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม
การใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูลมีข้อเด่นและข้อด้อยที่ต้องพิจารณาประกอบในการเลือกใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดังนี้
ข้อเด่นของการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามมีดังนี้ คือ
1. ถ้ากลุ่มตัวอย่างมีขนาดใหญ่ วิธีการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม จะเป็นวิธีการที่สะดวกและประหยัดกว่าวิธีอื่น
2. ผู้ตอบมีเวลาตอบมากกว่าวิธีการอื่น
3. ไม่จำเป็นต้องฝึกอบรมพนักงานเก็บข้อมูลมากเหมือนกับวิธีการสัมภาษณ์หรือวิธีการสังเกต
4. ไม่เกิดความลำเอียงอันเนื่องมาจากการสัมภาษณ์หรือการสังเกต เพราะผู้ตอบเป็นผู้ตอบข้อมูลเอง
5. สามารถส่งแบบสอบถามให้ผู้ตอบทางไปรษณีย์ได้
6. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูล

ข้อด้อยของการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม มีดังนี้คือ
1. ในกรณีที่ส่งแบบสอบถามให้ผู้ตอบทางไปรษณีย์ มักจะได้แบบสอบถามกลับคืนมาน้อย และต้องเสียเวลาในการติดตาม อาจทำให้ระยะเวลาการเก็บข้อมูลล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้
2. การเก็บข้อมูลโดยวิธีการใช้แบบสอบถามจะใช้ได้เฉพาะกับกลุ่มประชากรเป้าหมายที่อ่านและเขียนหนังสือได้เท่านั้น
3. จะได้ข้อมูลจำกัดเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เพราะการเก็บข้อมูลโดยวิธีการใช้แบบสอบถามจะต้องมีคำถามจำนวนน้อยข้อที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
4. การส่งแบบสอบถามไปทางไปรษณีย์ หน่วยตัวอย่างอาจไม่ได้เป็นผู้ตอบแบบสอบถามเองก็ได้ ทำให้คำตอบที่ได้มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความจริง
5. ถ้าผู้ตอบไม่เข้าใจคำถามหรือเข้าใจคำถามผิด หรือไม่ตอบคำถามบางข้อ หรือไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะตอบคำถาม ก็จะทำให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนได้ โดยที่ผู้วิจัยไม่สามารถย้อนกลับไปสอบถามหน่วยตัวอย่างนั้นได้อีก
6. ผู้ที่ตอบแบบสอบถามกลับคืนมาทางไปรษณีย์ อาจเป็นกลุ่มที่มีลักษณะแตกต่างจากกลุ่มผู้ที่ไม่ตอบแบบสอบถามกลับคืนมา ดังนั้นข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์จะมีความลำเอียงอันเนื่องมาจากกลุ่มตัวอย่างได้

การสร้างแบบสอบถาม

แบบสอบถาม หมายถึง รูปแบบของคำถามเป็นชุดๆ ที่ได้ถูกรวบรวมไว้อย่างมีหลักเกณฑ์และเป็นระบบ เพื่อใช้วัดสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการจะวัดจากกลุ่มตัวอย่างหรือประชากรเป้าหมายให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงทั้งในอดีต ปัจจุบันและการคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคต แบบสอบถามประกอบด้วยรายการคำถามที่สร้างอย่างประณีต เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นหรือข้อเท็จจริง โดยส่งให้กลุ่มตัวอย่างตามความสมัครใจ การใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้น การสร้างคำถามเป็นงานที่สำคัญสำหรับผู้วิจัย เพราะว่าผู้วิจัยอาจไม่มีโอกาสได้พบปะกับผู้ตอบแบบสอบถามเพื่ออธิบายความหมายต่าง ๆ ของข้อคำถามที่ต้องการเก็บรวบรวม

โครงสร้างของแบบสอบถาม
โครงสร้างของแบบสอบถาม ประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้
1. หนังสือนำหรือคำชี้แจง โดยมากมักจะอยู่ส่วนแรกของแบบสอบถาม อาจมีจดหมายนำอยู่
ด้านหน้าพร้อมคำขอบคุณ โดยคำชี้แจงมักจะระบุถึงจุดประสงค์ที่ให้ตอบแบบสอบถาม การนำคำตอบที่ได้ไปใช้ประโยชน์ คำอธิบายลักษณะของแบบสอบถาม วิธีการตอบแบบสอบถามพร้อมตัวอย่าง ชื่อ และที่อยู่ของผู้วิจัย ประเด็นที่สำคัญคือการแสดงข้อความที่ทำให้ผู้ตอบมีความมั่นใจว่า ข้อมูลที่จะตอบไปจะไม่ถูกเปิดเผยเป็นรายบุคคล จะไม่มีผลกระทบต่อผู้ตอบ และมีการพิทักษ์สิทธิของผู้ตอบด้วย
2. คำถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว เช่น เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ เป็นต้น การที่จะถามข้อมูลส่วนตัวอะไรบ้างนั้นขึ้นอยู่กับกรอบแนวความคิดในการวิจัย โดยดูว่าตัวแปรที่สนใจจะศึกษานั้นมีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว และควรถามเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นในการวิจัยเท่านั้น
3. คำถามเกี่ยวกับคุณลักษณะหรือตัวแปรที่จะวัด เป็นความคิดเห็นของผู้ตอบในเรื่องของคุณลักษณะ หรือตัวแปรนั้น


ขั้นตอนการสร้างแบบสอบถาม
การสร้างแบบสอบถามประกอบไปด้วยขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
ขั้นที่ 1 ศึกษาคุณลักษณะที่จะวัด
การศึกษาคุณลักษณะอาจดูได้จาก วัตถุประสงค์ของการวิจัย กรอบแนวความคิดหรือสมมติฐานการวิจัย จากนั้นจึงศึกษาคุณลักษณะ หรือตัวแปรที่จะวัดให้เข้าใจอย่างละเอียดทั้งเชิงทฤษฎีและนิยามเชิงปฏิบัติการ

ขั้นที่ 2 กำหนดประเภทของข้อคำถาม
ข้อคำถามในแบบสอบถามอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. คำถามปลายเปิด (Open Ended Question) เป็นคำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบสามารถ
ตอบได้อย่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้คำตอบที่แน่นอน สมบูรณ์ ตรงกับสภาพความเป็นจริงได้มากกว่าคำตอบที่จำกัดวงให้ตอบ คำถามปลายเปิดจะนิยมใช้กันมากในกรณีที่ผู้วิจัยไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร หรือใช้คำถามปลายเปิดในกรณีที่ต้องการได้คำตอบเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างคำถามปลายปิด แบบสอบถามแบบนี้มีข้อเสียคือ มักจะถามได้ไม่มากนัก การรวบรวมความคิดเห็นและการแปลผลมักจะมีความยุ่งยาก
2. คำถามปลายปิด (Close Ended Question) เป็นคำถามที่ผู้วิจัยมีแนวคำตอบไว้ให้
ผู้ตอบเลือกตอบจากคำตอบที่กำหนดไว้เท่านั้น คำตอบที่ผู้วิจัยกำหนดไว้ล่วงหน้ามักได้มาจากการทดลองใช้คำถามในลักษณะที่เป็นคำถามปลายเปิด หรือการศึกษากรอบแนวความคิด สมมติฐานการวิจัย และนิยามเชิงปฏิบัติการ คำถามปลายเปิดมีวิธีการเขียนได้หลาย ๆ แบบ เช่น แบบให้เลือกตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง แบบให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว แบบผู้ตอบจัดลำดับความสำคัญหรือแบบให้เลือกคำตอบหายคำตอบ

ขั้นที่ 3 การร่างแบบสอบถาม
เมื่อผู้วิจัยทราบถึงคุณลักษณะหรือประเด็นที่จะวัด และกำหนดประเภทของข้อคำถามที่จะมี
อยู่ในแบบสอบถามเรียบร้อยแล้ว ผู้วิจัยจึงลงมือเขียนข้อคำถามให้ครอบคลุมทุกคุณลักษณะหรือประเด็นที่จะวัด โดยเขียนตามโครงสร้างของแบบสอบถามที่ได้กล่าวไว้แล้ว และหลักการในการสร้างแบบสอบถาม ดังนี้
1. ต้องมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนว่าต้องการจะถามอะไรบ้าง โดยจุดมุ่งหมายนั้นจะต้อง
สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยที่จะทำ
2. ต้องสร้างคำถามให้ตรงตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ เพื่อป้องกันการมีข้อคำถามนอกประเด็น
และมีข้อคำถามจำนวนมาก
3. ต้องถามให้ครอบคลุมเรื่องที่จะวัด โดยมีจำนวนข้อคำถามที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อย
เกินไป แต่จะมากหรือน้อยเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่จะวัด ซึ่งตามปกติพฤติกรรมหรือเรื่องที่จะวัดเรื่องหนึ่งๆ นั้นควรมีข้อคำถาม 25-60 ข้อ
4. การเรียงลำดับข้อคำถาม ควรเรียงลำดับให้ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน และแบ่งตามพฤติกรรม
ย่อยๆ ไว้เพื่อให้ผู้ตอบเห็นชัดเจนและง่ายต่อการตอบ นอกจากนั้นต้องเรียงคำถามง่ายๆ ไว้เป็นข้อแรกๆ เพื่อชักจูงให้ผู้ตอบอยากตอบคำถามต่อ ส่วนคำถามสำคัญๆ ไม่ควรเรียงไว้ตอนท้ายของแบบสอบถาม เพราะความสนใจในการตอบของผู้ตอบอาจจะน้อยลง ทำให้ตอบอย่างไม่ตั้งใจ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการวิจัยมาก
5. ลักษณะของข้อความที่ดี ข้อคำถามที่ดีของแบบสอบถามนั้น ควรมีลักษณะดังนี้
1) ข้อคำถามไม่ควรยาวจนเกินไป ควรใช้ข้อความสั้น กะทัดรัด ตรงกับวัตถุประสงค์
และสองคล้องกับเรื่อง
2) ข้อความ หรือภาษาที่ใช้ในข้อความต้องชัดเจน เข้าใจง่าย
3) ค่าเฉลี่ยในการตอบแบบสอบถามไม่ควรเกินหนึ่งชั่วโมง ข้อคำถามไม่ควรมากเกินไปจนทำให้ผู้ตอบเบื่อหน่ายหรือเหนื่อยล้า
4) ไม่ถามเรื่องที่เป็นความลับเพราะจะทำให้ได้คำตอบที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
5) ไม่ควรใช้ข้อความที่มีความหมายกำกวมหรือข้อความที่ทำให้ผู้ตอบแต่ละคนเข้าใจ
ความหมายของข้อความไม่เหมือนกัน
6) ไม่ถามในเรื่องที่รู้แล้ว หรือถามในสิ่งที่วัดได้ด้วยวิธีอื่น
7) ข้อคำถามต้องเหมาะสมกับกลุ่มตัวอย่าง คือ ต้องคำนึงถึงระดับการศึกษา ความ
สนใจ สภาพเศรษฐกิจ ฯลฯ
8) ข้อคำถามหนึ่งๆ ควรถามเพียงประเด็นเดียว เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนและตรงจุด
ซึ่งจะง่ายต่อการนำมาวิเคราะห์ข้อมูล
9) คำตอบหรือตัวเลือกในข้อคำถามควรมีมากพอ หรือให้เหมาะสมกับข้อคำถามนั้น แต่ถ้าไม่สามารถระบุได้หมดก็ให้ใช้ว่า อื่นๆ โปรดระบุ ……………….
10) ควรหลีกเลี่ยงคำถามที่เกี่ยวกับค่านิยมที่จะทำให้ผู้ตอบไม่ตอบตามความเป็นจริง
11) คำตอบที่ได้จากแบบสอบถาม ต้องสามารถนำมาแปลงออกมาในรูปของปริมาณและใช้สถิติอธิบายข้อเท็จจริงได้ เพราะปัจจุบันนี้นิยมใช้คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นแบบสอบถามควรคำนึงถึงวิธีการประมวลข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

ขั้นที่ 4 การปรับปรุงแบบสอบถาม
หลังจากที่สร้างแบบสอบถามเสร็จแล้ว ผู้วิจัยควรนำแบบสอบถามนั้นมาพิจารณาทบทวนอีก
ครั้งเพื่อหาข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุงแก้ไข และควรให้ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบแบบสอบถามนั้นด้วยเพื่อที่จะได้นำข้อเสนอแนะและข้อวิพากษ์วิจารณ์ของผู้เชี่ยวชาญมาปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

ขั้นที่ 5 วิเคราะห์คุณภาพแบบสอบถาม
เป็นการนำแบบสอบถามที่ได้ปรับปรุงแล้วไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ เพื่อนำผลมาตรวจสอบคุณภาพของแบบสอบถาม


ขั้นที่ 6 ปรับปรุงแบบสอบถามให้สมบูรณ์
ผู้วิจัยจะต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องที่ได้จากผลการวิเคราะห์คุณภาพของแบบสอบถาม และ
ตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำหรือสำนวน เพื่อให้แบบสอบถามมีความสมบูรณ์และมีคุณภาพผู้ตอบอ่านเข้าใจได้ตรงประเด็นที่ผู้วิจัยต้องการ ซึ่งจะทำให้ผลงานวิจัยเป็นที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

ขั้นที่ 7 จัดพิมพ์แบบสอบถาม
จัดพิมพ์แบบสอบถามที่ได้ปรับปรุงเรียบร้อยแล้วเพื่อนำไปใช้จริงในการเก็บรวบรวมข้อมูลกับ
กลุ่มเป้าหมาย โดยจำนวนที่จัดพิมพ์ควรไม่น้อยกว่าจำนวนเป้าหมายที่ต้องการเก็บรวบรวมข้อมูล และควรมีการพิมพ์สำรองไว้ในกรณีที่แบบสอบถามเสียหรือสูญหายหรือผู้ตอบไม่ตอบกลับ แนวทางในการจัดพิมพ์แบบสอบถามมีดังนี้
7.1 การพิมพ์แบ่งหน้าให้สะดวกต่อการเปิดอ่านและตอบ
7.2 เว้นที่ว่างสำหรับคำถามปลายเปิดไว้เพียงพอ
7.3 พิมพ์อักษรขนาดใหญ่ชัดเจน
7.4 ใช้สีและลักษณะกระดาษที่เอื้อต่อการอ่าน

การตั้งสมมติฐานการวิจัย

การตั้งสมมติฐานในการวิจัย (Research Hypothesis)
การตั้งสมมติฐานในการวิจัย เป็นขั้นตอนของการคาดคะเนหรือคาดเดาคำตอบของปัญหาการวิจัย การคาดเดาคำตอบมีประโยชน์ในการกำหนดทิศทางการหาข้อมูล เพื่อตรวจสอบปัญหาการวิจัย เป็นการ คาดเดาคำตอบอย่างมีเหตุมีผล ผู้วิจัยควรตั้งสมมติฐานการวิจัยหลังจากที่ได้ศึกษาทฤษฎี เอกสารต่าง ๆ ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จนผู้วิจัยมีแนวความคิดเพียงพอที่จะคาดเดา โดยอาศัยเหตุผลเหล่านั้น ได้อย่างสมเหตุสมผลสมมติฐานในการวิจัยเป็นคำกล่าวที่ แสดงความถึงความสัมพันธ์ที่คาดการณ์หรือเดาระหว่างตัวแปรสองตัวขึ้นไป คำกล่าวนี้จะต้องแสดงทิศทางของความสัมพันธ์ว่าเป็นเช่นไรเช่นเป็นบวกหรือลบและเป็นคำกล่าวที่จะต้องพิสูจน์ต่อไปว่าเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่


ความสำคัญของสมมติฐาน
สมมติฐานจัดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากอย่างหนึ่งในการวิจัยเพราะเป็นแหล่งเชื่อมโยงระหว่างปัญหากับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่จะตอบปัญหา สมมติฐานยังเป็นเสมือนแนวทางในการสำรวจปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับปัญหาที่กำลังทำการสืบค้นอยู่นั้น ความสำคัญของสมมติฐานพอจะประมวลได้เป็นข้อๆ ดังนี้
1. การชี้ให้เห็นปัญหาชัดเจน

ถ้าไม่มีสมมติฐานเป็นเครื่องชี้นำ ผู้วิจัยอาจเสียเวลาในการหาสาเหตุและการแก้ปัญหาโดยเป็นการกระทำที่ผิวเผิน แต่การตั้งสมมติฐานนั้น ผู้วิจัยจะต้องได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนถึงข้อเท็จจริงและมโนทัศน์ที่คาดว่าจะสัมพันธ์กับปัญหา แล้วแยกแยะให้เห็นข้อสนเทศที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องในเชิงความสัมพันธ์ ทั้งนี้ในกระบวนการสร้างสมมติฐาน การนิรนัยผลที่ตามมา และการนิยามคำที่ใช้นั้นจะช่วยทำให้เห็นประเด็นของปัญหาที่ทำการวิจัยชัดเจนขึ้น
2. สมมติฐานช่วยกำหนดความเกี่ยวข้องระหว่างข้อเท็จจริง

ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ได้รับการเลือกเฟ้นอย่างรอบคอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการสืบค้นความจริง การรวบรวมข้อมูลจำนวนมากโดยปราศจากจุดหมายนั้น เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์เพราะข้อมูลเหล่านั้น ที่มิได้เลือกเฟ้นจะให้เหตุผลที่เป็นไปได้หลายหลากแตกต่างกัน จนไม่สามารถจะสรุปเป็นข้อยุติที่ชัดเจนได้ ข้อเท็จจริงที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหานั้นจะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ถ้ามีสมมติฐานแล้ว จะทำให้ผู้วิจัยแน่ใจว่าควรรวบรวมข้อเท็จจริง
3. อะไรมากน้อยแค่ไหนจึงจะเพียงพอที่จะทดสอบผลที่ตามมาได้ครบถ้วน
สมมติฐานจึงช่วยในการกำหนดและรวบรวมสิ่งที่ต้องการเพื่อแก้ปัญหาวิจัยนั้น
4. สมมติฐานเป็นตัวชี้การออกแบบการวิจัย
สมมติฐานไม่ใช่เพียงแต่ชี้แนวทางว่าควรพิจารณาข้อสนเทศใดแต่จะช่วยบอกวิธีที่จะรวบรวมข้อมูลด้วย สมมติฐานที่สร้างอย่างดีจะเสนอแนะว่ารูปแบบการวิจัยควรจะเป็นเช่นไรจึงจะเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะที่ต้องการทราบ สมมติฐานจะบอกแนวทางถึงกลุ่มตัวอย่างแบบสอบหรือเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ จะมีวิธีการอย่างไร วิธีการสถิติที่เหมาะสมคืออะไรตลอดจนจะรวบรวมข้อเท็จจริงในสถานการณ์ใดที่เหมาะสมกับปัญหา
5. สมมติฐานช่วยอธิบายปรากฏการณ์

การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่ใช่เป็นเพียงการรวบรวมข้อเท็จจริงและจัดพวกตามคุณสมบัติผิวเผินของข้อเท็จจริงเหล่านั้น เช่นไม่ใช่เพียงแต่จัดตารางบอกลักษณะของพฤติกรรมก้าวร้าว หรือเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยุวอาชญากรรมเท่านั้น แต่นักวิจัยจะต้องกำหนดว่าองค์ประกอบใดก่อให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น โดยอธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ที่น่าจะเป็นสาเหตุและผลอย่างเหมาะสม สมมติฐานที่สร้างขึ้นจากข้อเท็จจริงจะช่วยให้ผู้วิจัยมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสำรวจและอธิบายสิ่งที่แฝงอยู่เบื้องหลังได้
6. สมมติฐานช่วยกำหนดขอบเขตของข้อยุติ

ถ้าหากผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานในเชิงนิรนัยไว้ ก็เท่ากับได้วางขอบเขตในข้อยุติไว้แล้ว ผู้วิจัยอาจระบุเหตุผลว่าถ้า H1 จริงแล้วข้อเท็จจริงเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นจากการทดสอบกับข้อมูลจริง ข้อเท็จจริงนั้นเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ดังนั้นข้อยุติก็จะเป็นว่า ได้รับการยืนยันหรือไม่ได้รับการยืนยัน สมมติฐานจึงให้ขอบเขตในการตีความข้อค้นพบอย่างเฉียบขาดและมีความหมายกระชับ ถ้าไม่มีสมมติฐานที่เป็นการทำนายล่วงหน้าข้อเท็จจริงก็ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการยืนยันหรือไม่ได้รับการยืนยันแต่อย่างใด

การสร้างกรอบแนวคิดวิจัย

การสร้างกรอบแนวคิดในการวิจัย เป็นขั้นตอนของการนำเอาตัวแปรและประเด็นที่ต้องการทำวิจัยมาเชื่อมโยงกับแนวคิดทฤษฏีที่เกี่ยวข้องในรูปของคำบรรยาย แบบจำลองแผนภาพหรือแบบผสมการวาง กรอบแนวคิดในการวิจัยที่ดี จะต้องชัดเจน แสดงทิศทางของความสัมพันธ์ ของสิ่งที่ต้องการศึกษา หรือตัวแปรที่จะศึกษา สามารถใช้เป็นกรอบในการกำหนดขอบเขตของการวิจัย การพัฒนาเครื่องมือในการวิจัย รูปแบบการวิจัย ตลอดจนวิธีการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล หลักสำคัญของการเขียนกรอบแนวคิดการวิจัย คือ
1.กำหนดตัวแปรต้น หรือตัวแปรอิสระ ไว้ด้านซ้ายมือ พร้อมทั้งใส่กรอบสี่เหลี่ยมไว้ เพื่อให้สามารถแยกแยะตัวแปรที่ต้องการศึกษาได้
2.กำหนดตัวแปรตาม ไว้ด้านขวามือ พร้อมทั้งใส่กรอบสี่เหลี่ยมไว้ เพื่อให้สามารถแยกแยะตัวแปรที่ต้องการศึกษาได้
3.เขียนลูกศรชี้จากตัวแปรต้นแต่ละตัวมายังตัวแปรตามให้ครบทุกคู่ที่ต้องการศึกษา

ประโยชน์ของกรอบแนวคิด
การสร้างกรอบแนวคิดที่ชัดเจน จะเป็นประโยชน์ต่อผู้วิจัยและผู้ที่อ่านงานวิจัย ดังนี้
1.สามารถเข้าใจแนวคิดสำคัญที่แสดงถึงแก่นของปัญหาการศึกษาในระยะเวลาอันสั้น
2.เป็นตัวชี้นำทำให้ผู้วิจัยเกิดความมั่นใจว่างานวิจัยเป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
3.สร้างความชัดเจนในงานวิจัยว่าจะสามารถตอบคำถามที่ศึกษาได้
4.เป็นแนวทางในการกำหนดความหมายตัวแปร การสร้างเครื่องมือ และการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัย
5.สามารถเชื่อมโยงไปสู่การกำหนดกรอบทิศทางการทำวิจัยได้เหมาะสม ถูกต้อง โดยเฉพาะวิเคราะห์ข้อมูล


สรุป
การเลือกกรอบแนวคิด มีประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับงานวิจัยทุกขั้นตอนตั้งแต่ การรวบรวมข้อมูล การออกแบบวิจัย การตั้งสมมติฐานการวิจัย รวมถึงการวิเคราะห์และอภิปรายผลการวิจัย

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง


กลุ่มตัวอย่างกลุ่ม (Sample)

หมายถึง เป็นส่วนหนึ่งของประชากรที่ผู้วิจัยสนใจ กลุ่มตัวอย่างที่ดีหมายถึงกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะต่างๆที่สำคัญครบถ้วนเหมือนกับกลุ่มประชากร เป็นตัวแทนที่ดีของกลุ่มประชากรได้ การใช้กลุ่มตัวอย่างมาศึกษาค่าสถิติ(statistics) ซึ่งเป็นลักษณะที่ได้จากการวิเคราะห์กับกลุ่มตัวอย่าง อาจจะมีความผิดพลาดได้เมื่อนำไปใช้ประมาณค่าพารามิเตอร์ (parameter) หรือลักษณะของประชากร (characteristics of population) บางครั้งค่าสถิติที่ได้อาจประมาณต่ำกว่าค่าพารามิเตอร์ (underestimation) หรือประมาณเกินกว่าความเป็นจริงของลักษณะประชากร (overestimation) ซึ่งถ้าทำการศึกษาโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างประชากรจากประชากรเดิม (parent population) ด้วยขนาดของกลุ่มตัวอย่างเท่าเดิมโดยวิธีการสุ่ม(random) และใช้หลักการสุ่มโดยอาศัยความน่าจะเป็น (probability sampling)


1.การสุ่มโดยไม่คำนึงถึงความน่าจะเป็น
ในบางครั้งการเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยอาศัยความน่าจะเป็น โดยวิธีการสุ่มอาจจะไม่สามารถทำได้หรือทำได้ยาก การเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยความน่าจะเป็นจึงถูกนำมาใช้ซึ่งการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบนี้จะมีลักษณะเป็นอัตวิสัย (subjective) ซึ่งมักจะทำให้การประมาณค่าพารามิเตอร์ขาดความแม่นยำ ดังนั้นในการเลือกกลลุ่มตัวอย่างแบบนี้มักจะใช้เมื่อไม่ต้องการอ้างอิงถึงลักษณะประชากร ส่วนใหญ่จะใช้กับงานวิจัยสำรวจข้อเท้จจริง (Exploration research) กับกลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะและไม่ต้องการเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลทางด้านค่าใช้จ่ายและเวลา เพราะการเลือกตัวอย่างโดยไม่อาศัยความน่าเป็นจะมีค่าใช้จ่ายและเวลาน้อยกว่าอาศัยความน่าจะเป็น

1.1 การสุ่มโดยบังเอิญ (Accidental sampling)

เป็นการสุ่มจากสมาชิกของประชากรเป้าหมายที่เป็นใครก็ได้ที่สามารถให้ข้อมูลได้ครบถ้วน การสุ่มโดยวิธีนี้ไม่สามารถรับประกันความแม่นยำได้ ซึ่งการเลือกวิธีนี้เป็นวิธีที่ด้อยที่สุด เพราะเป็นการเลือกตัวอย่างที่มีลักษณะสอดคล้องกับนิยามของประชากรที่สามารถพบได้และใช้เป็นอย่างได้ทันที


1.2 การสุ่มแบบโควตา (Quota sampling)

เป็นการสุมตัวอย่างโดยจำแนกประชากรออกเป็นส่วนๆก่อน (strata)โดยมีหลักจำแนกว่าตัวแปรที่ใช้ในการจำแนกนั้นควรจะมีความสัมพันธ์กับตัวแปรที่จะรวบรวม หรือตัวแปรที่สนใจ และสมาชิกที่อยู่แต่ละส่วนมีความเป็นเอกพันธ์


1.3 การสุ่มตัวอย่างเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling)

หรือบางครั้งเรียกว่าการสุ่มแบบพิจารณา (judgment sampling) เป็นการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ดุลพินิจของผู้วิจัยในการกำหนดสมาชิกของประชากรที่จะมาเป็นสมาชิกในกลุ่มตัวอย่าง ว่ามีลักษณะสอดคล้องหรือเป็นตัวแทนที่จะศึกษาหรือไม่ ข้อจำกัดของการสุ่มตัวอย่างแบบนี้คือไม่สามารถระบุได้ว่าตัวอย่างที่เลือก จะยังคงลักษณะดังกล่าวหรือไม่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป


1.4 การสุมกลุ่มตัวอย่างตามสะดวก (Convenience sampling)

การเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยถือเอาความสะดวกหรือความง่ายต่อการรวบรวมข้อมูล ข้อจำกัดของการสุ่มแบบนี้จะมีลักษณะเหมือนกับการสุ่มโดยบังเอิญ


1.5 การสุมตัวอย่างแบบสโนว์บอลล์ (Snowball sampling)

เป็นการเลือกตัวอย่างในลักษณะการสร้างเครือข่ายข้อมูล เรียกว่า snowball sampling โดยเลือกจากหน่วยตัวอย่างกลุ่มแรก (จะใช้หรือไม่ใช้ความน่าจะเป็นก็ได้) และตัวอย่างกลุ่มนี้เสนอบุคคลอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงต่อๆไป


2. การสุ่มโดยการคำนึงถึงความน่าจะเป็น (Probability sampling)
2.1 การสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling)
สมาชิกทั้งหมดของประชากรเป็นอิสระซึ่งกันและกัน แล้วสุ่มหน่วยของการสุ่ม (Sampling unit) จนกว่าจะได้จำนวนตามที่ต้องการ โดยแต่ครั้งที่สุ่ม สมาชิกแต่ละหน่วยของประชากรมีโอกาสถูกเลือกเท่าเทียมกัน ซึ่งก่อนที่จะทำการสุ่มนั้น จะต้องนิยามประชากรให้ชัดเจน ทำรายการสมาชิกทั้งหมดของประชากร สุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีที่ทำให้โอกาสในการของสมาชิกแต่ละหน่วยในการถูกเลือกมีค่าเท่ากัน ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
2.1.1 การจับฉลาก
2.1.2 การใช้ตารางเลขสุ่ม (table of random number) ซึ่งตัวเลขในตารางได้มาจากการอาศัยคอมพิวเตอร์กำหนดค่า หรือบางครั้งสามารถใช้วิธีการดึงตัวอย่างโดยอาศัยโปรแกรมสำเร็จรูป