วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การตั้งสมมติฐานการวิจัย

การตั้งสมมติฐานในการวิจัย (Research Hypothesis)
การตั้งสมมติฐานในการวิจัย เป็นขั้นตอนของการคาดคะเนหรือคาดเดาคำตอบของปัญหาการวิจัย การคาดเดาคำตอบมีประโยชน์ในการกำหนดทิศทางการหาข้อมูล เพื่อตรวจสอบปัญหาการวิจัย เป็นการ คาดเดาคำตอบอย่างมีเหตุมีผล ผู้วิจัยควรตั้งสมมติฐานการวิจัยหลังจากที่ได้ศึกษาทฤษฎี เอกสารต่าง ๆ ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จนผู้วิจัยมีแนวความคิดเพียงพอที่จะคาดเดา โดยอาศัยเหตุผลเหล่านั้น ได้อย่างสมเหตุสมผลสมมติฐานในการวิจัยเป็นคำกล่าวที่ แสดงความถึงความสัมพันธ์ที่คาดการณ์หรือเดาระหว่างตัวแปรสองตัวขึ้นไป คำกล่าวนี้จะต้องแสดงทิศทางของความสัมพันธ์ว่าเป็นเช่นไรเช่นเป็นบวกหรือลบและเป็นคำกล่าวที่จะต้องพิสูจน์ต่อไปว่าเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่


ความสำคัญของสมมติฐาน
สมมติฐานจัดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากอย่างหนึ่งในการวิจัยเพราะเป็นแหล่งเชื่อมโยงระหว่างปัญหากับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่จะตอบปัญหา สมมติฐานยังเป็นเสมือนแนวทางในการสำรวจปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับปัญหาที่กำลังทำการสืบค้นอยู่นั้น ความสำคัญของสมมติฐานพอจะประมวลได้เป็นข้อๆ ดังนี้
1. การชี้ให้เห็นปัญหาชัดเจน

ถ้าไม่มีสมมติฐานเป็นเครื่องชี้นำ ผู้วิจัยอาจเสียเวลาในการหาสาเหตุและการแก้ปัญหาโดยเป็นการกระทำที่ผิวเผิน แต่การตั้งสมมติฐานนั้น ผู้วิจัยจะต้องได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนถึงข้อเท็จจริงและมโนทัศน์ที่คาดว่าจะสัมพันธ์กับปัญหา แล้วแยกแยะให้เห็นข้อสนเทศที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องในเชิงความสัมพันธ์ ทั้งนี้ในกระบวนการสร้างสมมติฐาน การนิรนัยผลที่ตามมา และการนิยามคำที่ใช้นั้นจะช่วยทำให้เห็นประเด็นของปัญหาที่ทำการวิจัยชัดเจนขึ้น
2. สมมติฐานช่วยกำหนดความเกี่ยวข้องระหว่างข้อเท็จจริง

ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ได้รับการเลือกเฟ้นอย่างรอบคอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการสืบค้นความจริง การรวบรวมข้อมูลจำนวนมากโดยปราศจากจุดหมายนั้น เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์เพราะข้อมูลเหล่านั้น ที่มิได้เลือกเฟ้นจะให้เหตุผลที่เป็นไปได้หลายหลากแตกต่างกัน จนไม่สามารถจะสรุปเป็นข้อยุติที่ชัดเจนได้ ข้อเท็จจริงที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหานั้นจะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ถ้ามีสมมติฐานแล้ว จะทำให้ผู้วิจัยแน่ใจว่าควรรวบรวมข้อเท็จจริง
3. อะไรมากน้อยแค่ไหนจึงจะเพียงพอที่จะทดสอบผลที่ตามมาได้ครบถ้วน
สมมติฐานจึงช่วยในการกำหนดและรวบรวมสิ่งที่ต้องการเพื่อแก้ปัญหาวิจัยนั้น
4. สมมติฐานเป็นตัวชี้การออกแบบการวิจัย
สมมติฐานไม่ใช่เพียงแต่ชี้แนวทางว่าควรพิจารณาข้อสนเทศใดแต่จะช่วยบอกวิธีที่จะรวบรวมข้อมูลด้วย สมมติฐานที่สร้างอย่างดีจะเสนอแนะว่ารูปแบบการวิจัยควรจะเป็นเช่นไรจึงจะเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะที่ต้องการทราบ สมมติฐานจะบอกแนวทางถึงกลุ่มตัวอย่างแบบสอบหรือเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ จะมีวิธีการอย่างไร วิธีการสถิติที่เหมาะสมคืออะไรตลอดจนจะรวบรวมข้อเท็จจริงในสถานการณ์ใดที่เหมาะสมกับปัญหา
5. สมมติฐานช่วยอธิบายปรากฏการณ์

การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่ใช่เป็นเพียงการรวบรวมข้อเท็จจริงและจัดพวกตามคุณสมบัติผิวเผินของข้อเท็จจริงเหล่านั้น เช่นไม่ใช่เพียงแต่จัดตารางบอกลักษณะของพฤติกรรมก้าวร้าว หรือเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยุวอาชญากรรมเท่านั้น แต่นักวิจัยจะต้องกำหนดว่าองค์ประกอบใดก่อให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น โดยอธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ที่น่าจะเป็นสาเหตุและผลอย่างเหมาะสม สมมติฐานที่สร้างขึ้นจากข้อเท็จจริงจะช่วยให้ผู้วิจัยมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสำรวจและอธิบายสิ่งที่แฝงอยู่เบื้องหลังได้
6. สมมติฐานช่วยกำหนดขอบเขตของข้อยุติ

ถ้าหากผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานในเชิงนิรนัยไว้ ก็เท่ากับได้วางขอบเขตในข้อยุติไว้แล้ว ผู้วิจัยอาจระบุเหตุผลว่าถ้า H1 จริงแล้วข้อเท็จจริงเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นจากการทดสอบกับข้อมูลจริง ข้อเท็จจริงนั้นเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ดังนั้นข้อยุติก็จะเป็นว่า ได้รับการยืนยันหรือไม่ได้รับการยืนยัน สมมติฐานจึงให้ขอบเขตในการตีความข้อค้นพบอย่างเฉียบขาดและมีความหมายกระชับ ถ้าไม่มีสมมติฐานที่เป็นการทำนายล่วงหน้าข้อเท็จจริงก็ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการยืนยันหรือไม่ได้รับการยืนยันแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น