วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การนิยามศัพท์เฉพาะ


การนำคำศัพท์มานิยามในงานวิจัยนั้น เป็นการนิยามคำศัพท์ที่เป็นสำคัญที่ผู้วิจัยใช้ในความหมายเฉพาะสำหรับงานวิจัยของตน หากเป็นคำศัพท์ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเข้าใจตรงกันโดยทั่วไป และในงานวิจัยก็ไม่ได้ใช้ในความหมายที่ต่างออกไป คำศัพท์นั้นไม่ต้องนำมานิยาม

ปัญหาที่พบในงานวิจัย โดยเฉพาะในการทำปริญญานิพนธ์ของนิสิตนั้น มักจะเขียนนิยามศัพท์โดยการตัดคำสำคัญออกเป็นส่วนๆ เช่น ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา นิสิตนักศึกษามักตัดออกเป็นคำ 2 คำ คือ คำว่าความคิดและการปฏิรูปการศึกษา แล้วนำ 2 คำนั้นมานิยามแยกจาก ซึ่งความจริงแล้ว “ความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการศึกษา” นั้นเป็นตัวแปรที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา เมื่อถูกแยกออกจากกันทำให้คำนิยามขาดสาระสำคัญของตัวแปรไปกัน
  • ตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม
    ความคิดเห็น หมายถึง ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
    การปฏิรูปการศึกษา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาจากเดิมที่เน้นครูเป็นศูนย์กลางเป็นเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

    ตัวอย่างที่เหมาะสม
    ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา หมายถึง ความรู้สึกของครูที่มีต่อการ ปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจำแนกออกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ แนวทางการจัดการศึกษา ประกันคุณภาพ ระบบโครงสร้าง และการบริหารการศึกษา การพัฒนาครู

    ในบางครั้งผู้วิจัยจำเป็นต้องสร้างหรือพัฒนาเครื่องมือเพื่อวัดตัวแปรในงานวิจัยของตน การนิยามศัพท์เฉพาะอาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้นในงานวิจัยบางเรื่องอาจมีทั้งนิยามศัพท์เฉพาะและนิยามศัพท์ปฏิบัติการ ซึ่งการนิยามศัพท์ปฏิบัติการจะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะวัดของตัวแปรนั้นๆ

    ตัวอย่างการนิยามศัพท์ปฏิบัติการ
    ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ มีความหมายและวิธีวัดดังนี้
    1. ฐานอำนาจของผู้บริหาร หมายถึง ศักยภาพหรือความสามารถของผู้บริหารที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติไปในทิศทางที่ผู้บริหารต้องการได้ ฐานอำนาจของผู้บริหารในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้แนวคิดทฤษฎีฐานอำนาจทางสังคม
    1.1 อำนาจในตำแหน่ง (Position power) หมายถึง ศักยภาพหรือความสามารถของผู้บริหาร ที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติไปในทิศทางตามที่ต้องการโดยมีพื้นฐานมาจากอำนาจอันชอบธรรม อำนาจจากการให้รางวัลและอำนาจจากการบังคับ
    อำนาจอันชอบธรรม (Legitemate power) หมายถึงความสามารถของผู้บริหารที่มาจากตำแหน่งที่ผู้บริหารดำรงอยู่ โดยมีพื้นฐานมาจากกฎ ระเบียบ วัฒนธรรม และโครงสร้างทางสังคม ซึ่งทำให้ผู้บริหารมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจนี้ภายในขอบเขตของอำนาจหน้าที่
    อำนาจการให้รางวัล (Reward power) หมายถึง ความสามารถของผู้บริหารในการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติ โดยมีพื้นฐานมาจากการให้รางวัลหรือผลตอบแทนต่อผู้ใต้บังคับบัญชาที่แสดงพฤติกรรม หรือความคิดเห็นไปในทางที่ต้องการ
    อำนาจบังคับ (Coercive power) หมายถึง ความสามารถของผู้บริหารที่จะลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่ปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ หรือเป็นอำนาจหน้าที่ที่ผู้บริหารสามารถทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชายอมปฏิบัติตามเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษ เพื่อรักษามาตรฐานและควบคุมการปฏิบัติงานของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ
    1.2 อำนาจส่วนบุคคล (Personal power) หมายถึง ศักยภาพหรือความสามารถที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติไปในทิศทางตามที่ต้องการโดยมีพื้นฐานมาจาก ความเชี่ยวชาญ ความเป็นมิตร ความจงรักภักดี และความดึงดูดใจของผู้บริหาร ซึ่งวัดได้จาก อำนาจความเชี่ยวชาญและอำนาจอ้างอิง
    อำนาจความเชี่ยวชาญ (Expert power) หมายถึง ความสามารถผู้บริหารที่ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ของผู้บริหารที่ครูอาจารย์ให้การยอมรับว่าความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญนั้นสามารถทำให้ครูอาจารย์หรือโรงเรียนบรรลุเป้าหมายได้
    อำนาจอ้างอิง (Referent power) หมายถึง ความสามารถของผู้บริหารที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาที่มาจากพื้นฐานของการยอมรับ ความประทับใจในบุคลิกภาพ ความรู้เป็นพวกเดียวกัน หรือการประพฤติและปฏิบัติตนของผู้บริหารที่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา



ฐานอำนาจของผู้บริหารนี้ วัดได้จากแบบวัดฐานอำนาจ ที่ผู้วิจัยได้สร้าง พัฒนาและปรับปรุงมาจากแบบวัดฐานอำนาจของฮินคินและชไรส์ไฮม์ (Hinkin and Scirieshiem.1989) ชไรส์ไฮม์ ฮินคิน และ พอดซาคอฟฟ์ (Scirieshiem , Hinkin and Podsakoff.1991) มีจำนวนทั้งหมด 20 ข้อ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น