วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเขียนผลงานวิชาการ


  • เทคนิคการเขียนผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่

    การเขียนผลงานวิชาการเพื่อพิมพ์เผยแพร่ จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลงานวิจัย หากผลงานวิจัยได้รับการอ้างอิงอย่างสม่ำเสมอจากคณะผู้วิจัยกลุ่มอื่น ๆ ก็จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ผลงานวิจัยนั้น ๆ

  • ผลงานวิจัยที่สามารถจะลงตีพิมพ์เผยแพร่ได้นั้น จะต้องสามารถตอบคำถามหรือโจทย์ที่ผู้วิจัยตั้งไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องมีผลการทดลองต่าง ๆ มาสนับสนุนคำตอบนั้น ๆ มีการแสดงข้อมูลที่ชัดเจนไม่คลุมเครือ ผลงานวิจัยที่ลงตีพิมพ์ ส่วนมากอยู่ใน 2 รูปแบบ คือ short communication และ full paper ต้องศึกษารูปแบบการเขียนที่วารสารกำหนด ตัวหนังสือ ตัวพิมพ์ การเว้นวรรค ตัวย่อ ผู้เขียนต้องปฏิบัติตามขั้นตอนโดยเคร่งครัด จะได้ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่า วารสารบางชนิด จะต้องจ่ายค่าลงตีพิมพ์
    1. การเขียนคำนำ
    คำนำหรือบทนำ (Introduction) คือส่วนที่นำไปสู่การวิจัย ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขาดงานวิจัยมาสนับสนุน เป็นส่วนที่ดึงดูดความสนใจให้ผู้อ่านอ่านเนื้อหาต่อไป อาจมีการตั้งคำถามหรือสมมุติฐานว่า ทำไมต้องทำงานวิจัยชิ้นนี้ ใช้ข้อความที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ วิธีการวิจัย ในการเขียนงานวิชาการเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสาร ส่วนของการตรวจเอกสารจะเป็นส่วนหนึ่งในคำนำ
    2. การตรวจเอกสาร (literature reviews)
    เป็นการสรุปงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ที่ได้ทำมาก่อนแล้ว เพื่อต้องการให้ข้อมูลว่า ได้มีทำงานวิจัยอะไรมาแล้วบ้าง ผลที่ได้เป็นอย่างไรและยังขาดข้อมูลอะไรอยู่ การตรวจเอกสารที่ดี ต้องเขียนให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อหาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
    3. อุปกรณ์และวิธีการ (materials and methods) เขียนบรรยายให้ผู้อ่านที่มีระดับความรู้เดียวกันสามารถดำเนินการวิจัยตามได้หากเขาสนใจ เป็นการบรรยายว่าเรามีการวางแผนการทดลองอย่างไร การทดลองที่ดำเนินการตามวิธีการหรือดัดแปลงมาจากวิธีการอันเป็นมาตรฐานของใคร เขียนให้สั้น รัดกุม เขียนการปฏิบัติงานตามลำดับ มีรายละเอียดที่สำคัญชัดเจน
    4. ผลการทดลอง (results) เป็นตอนที่เขียนไม่ยาก เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่า เกิดอะไรขึ้นจากการทดลอง สามารถนำเสนอโดยใช้การบรรยาย กราฟ หรือตารางตามความเหมาะสม เสนอข้อมูลเป็นค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deveriation) พร้อมแสดงการทดสอบค่าทางสถิติด้วย ตาราง รูปและกราฟจะต้องมีการบรรยายประกอบที่ชัดเจนและไม่ควรมีข้อมูลที่มากเกินไป สำหรับงานวิจัยที่สั้น ข้อมูลไม่มาก อาจเขียนผลการทดลองและวิจารณ์ไว้ด้วยกัน
    5. วิจารณ์ผล (discussion) คือ การแปลความหมายหรือประเมินผล บทวิจารณ์ที่ดีต้อง
    ครอบคลุมรายละเอียดดังนี้
    5.1 นำผลการทดลองไปเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์และสมมุติฐาน ว่าสอดคล้องหรือขัดแย้งกันหรือไม่ หาเหตุผลทางวิชาการและพยายามหาผลงานนักวิจัยอื่น ๆ มาสนับสนุน
    5.2 ไม่ควรเขียนซ้ำรายงานของผู้อื่นที่กล่าวมาแล้วในบทนำ
    5.3 เปรียบเทียบผลการทดลองนี้กับการทดลองอื่น ๆ ที่ทำมาก่อนว่า สอดคล้องหรือขัดแย้งกันหรือไม่
    5.4 ควรให้ข้อสรุปถึงผลการค้นพบที่สำคัญ และคำแนะนำเกี่ยวกับผลการวิจัย
    การวิจารณ์เป็นส่วนสำคัญและเป็นการแสดงถึงความรอบรู้และเฉียบคมของผู้วิจัยในการที่
    จะชี้นำให้ผู้อ่านทราบถึงคุณค่าของผลการวิจัยและมีความเห็นคล้อยตาม
    6. สรุป ใช้ประโยคสั้นและชัดเจน อาจจะมีข้อเสนอแนะแนบไปด้วย


  • * ก่อนส่งงานวิชาการไปตีพิมพ์ ให้ตรวจแก้หลาย ๆ ครั้ง และให้นักวิจัยอื่น ๆ ช่วยอ่านจะดียิ่งขึ้น *

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น