วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การกำหนดชื่อเรื่องและวัตถุประสงค์การวิจัย


การกำหนดชื่อเรื่องวิจัย
ชื่อเรื่องที่จะวิจัยจะต้องตรงกับปัญหาที่จะศึกษา มีความชัดเจนทางด้านภาษา ผู้อ่านเห็นแล้วสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าจะทำอะไร ไม่ต้องตีความอีก ในที่นี้มีข้อเสนอแนะในการตั้งชื่อเรื่องวิจัย ซึ่งประมวลจากประสบการณ์ในการศึกษางานวิจัย ดังนี้
1.
ตั้งชื่อเรื่องโดยใช้ภาษาง่าย สั้น กระซับ และชัดเจน ครอบคลุมปัญหาที่จะวิจัย เช่น“การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อสร้างเสริมสมรรถภาพด้านการสอนของครูประจำการระดับประถมศึกษา”
2. ชื่อเรื่องต้องสามารถบอกได้ว่าเป็นการศึกษาอะไร กับใคร หรือของใคร ที่ไหน (ถ้าเกี่ยวข้องกับสถานที่)หรือเมื่อไร (ถ้าเกี่ยวข้องกับเวลา) เช่น“การศึกษาบัญหาและความต้องการเพื่อจัดโครงการศึกษานอกระบบโรงเรียนในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย”
3. ชื่อเรื่อง ต้องไม่ยาวจนดูฟุ่มเฟือย อ่านแล้วเข้าใจยาก หรือจับประเด็นไม่ได้ เช่น “การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสมรรถวิสัย ในกิจกรรมเสริมหลักสูตรภาษาไทยกับความสนใจในการติดตามข่าวสาร เหตุการณ์จากหนังสือพิมพ์ ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนรัฐบาลในเขตจังหวัดชุมชม ภาคใต้ ของประเทศไทย” ชื่อเรื่องที่ยาวแต่ไม่ฟุ่มเฟือย เช่น“การศึกษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคของนักเรียนชาย : เปรียบเทียบระหว่างนักเรียนอาชีวศึกษากับนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 1 ในเขตกรุงเทพมหานคร”
4. ชื่อเรื่อง ต้องไม่สั้นจนเกินไป อ่านไม่รู้เรื่องว่าทำอะไร เช่น“การศึกษาปัญหาการใช้สารเสพติด”เป็นการศึกษาที่ไหน กับใคร“เปรียบเทียบการใช้ห้องสมุดประชาชน”เปรียบเทียบเรื่องอะไร ระหว่างใครกับใคร ที่ไหน
5. ชื่อเรื่อง ควรขึ้นต้นด้วยคำนาม เพื่อให้เกิดความไพเราะสละสลวย ที่นิยมกัน คือ มักจะขึ้นด้วยคำว่า การศึกษา การสำรวจ การวิเคราะห์ การเปรียบเทียบ เช่น“การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถทางสมองกับความสามารถทางการคิดแก้ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษา” “การเปรียบเทียบพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของนักเรียนจากการประเมินผลหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2503 และพุทธศักราช 2521”
6. ชื่อเรื่องวิจัยควรระบุถึงประเภท หรือวิธีการศึกษา ตัวแปรสำคัญ กลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มเป้าหมายลงไปด้วย เช่น“การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรับผิดชอบกับวินัยในตนเองของอาจารย์ในสถาบันราชภัฏ”

วัตถุประสงค์การวิจัย
วัตถุประสงค์การวิจัย เป็นการกำหนดความต้องการในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ความจริงของผู้วิจัยว่า ต้องการศึกษาเรื่องใดภายใต้ขอบเขตอะไร เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าผู้วิจัยมุ่งหาคำตอบเรื่องใด ซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัย จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องต่อไปนี้ (กองแผนงาน, 2535 : 1-7)
1.ผู้วิจัยต้องการศึกษาปัญหา หรือต้องการพิสูจน์เกี่ยวกับความจริงเรื่องอะไรบ้าง
2.ขอบเขตของปัญหาที่ผู้วิจัยต้องการทราบหรือต้องการศึกษานั้น กว้างขวางเพียงใด ซึ่งกำหนดขอบเขตจะช่วยในการกำหนดประชากร การสุ่มกลุ่มตัวอย่าง วิธีดำเนินการวิจัยและสมมุติฐานการวิจัย

การเขียนวัตถุประสงค์ในการวิจัย มีข้อควรคำนึงดังนี้
1.วัตถุประสงค์ของการวิจัยจะต้องสอดคล้องกับชื่อเรื่อง และความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
2.สามารถกำหนดสมมุติฐานการวิจัยได้ (ถ้าเป็นการวิจัยที่ต้องการทดสอบสมมุติฐาน)
3.วัตถุประสงค์ของการวิจัยต้องครอบคลุมสิ่งที่ต้องการศึกษา
4.ภาษาที่ใช้เขียนจะต้องสั้นกระทัดรัดได้ใจความ และมีความชัดเจน
5.วัตถุประสงค์จะต้องระบุวิธีการศึกษา ตัวแปร และกลุ่มที่ศึกษา
6.สามารถกำหนดรูปแบบการวิจัยได้
7.การเขียนอาจเขียนในลักษณะการบรรยาย หรือคำถามก็ได้
8.ถ้าวัตถุประสงค์มีหลายข้อควรเขียนเรียงจากวัตถุประสงค์หลักไปสู่วัตถุประสงค์ย่อย
9.การเขียนวัตถุประสงค์อาจเขียนในลักษณะวัตถุประสงค์รวมก่อนแล้ว แยกเป็นวัตถุประสงค์ย่อย ๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น